สารอาหารสำคัญ บำรุงสมอง ป้องกันความจำเสื่อมสมอง (Brain) เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องของสติปัญญา ความคิด ความจำ
การเรียนรู้ ความสามารถในการทำงานและการตัดสินใจ ซึ่งสมองจะมีการเติบโตและพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงอายุ
25 ปี และเริ่มเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้อง บำรุงสมอง อย่างเหมาะสม เพื่อให้ระบบการทำงานของสมองทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและป้องกันความจำเสื่อมหรือภาวะสมองเสื่อมซึ่งเป็นหนึ่งในโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะผู้สูงอายุ
ภาวะสมองเสื่อม คืออะไร?
สมองเสื่อม (Dementia) เป็นภาวะที่การทำงานของสมองเสื่อมลง ทำให้สูญเสียความจำ การเรียนรู้ การใช้ภาษา และกระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ บกพร่อง จนส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน โดยสาเหตุของการเกิดภาวะสมองเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังต่อไปนี้
ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาให้หายขาดได้
โรคของต่อมไทรอยด์ หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์
การขาดวิตามินบี 12
การติดเชื้อบางชนิด เช่น HIV ซิฟิลิสในสมอง
โรคที่เกี่ยวกับสมอง น้ำคั่งในโพรงสมอง เนื้องอก หรือเลือดออกในสมอง
ภาวะซึมเศร้า (Depression)
การใช้ยาบางชนิด
ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาให้หายขาดไม่ได้
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) เป็น1 ในสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมพบบ่อยที่สุด และพบมากในผู้สูงอายุเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง ส่งผลให้การเรียนรู้ การจดจำ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ สูญเสียไป
เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดตีบ ส่งผลให้ไม่สามารถนำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงบำรุงสมองได้อย่างเพียงพอ ทำให้เซลล์สมองขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมลงและตายในที่สุด
อาการเริ่มต้นของสมองเสื่อม
พูดหรือถามเรื่องเดิมซ้ำๆ ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดมาไม่นาน
หาของไม่เจอ ลืมนัดสำคัญบ่อยๆ
สับสนเรื่องทิศทาง หลงทางแม้เป็นสถานที่คุ้นเคย
มีปัญหาด้านการสื่อสาร นึกคำไม่ออก ใช้คำผิด
บุคลิก และอารมณ์เปลี่ยนไป หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว
บกพร่องในทักษะที่เคยทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทำอาหาร การใช้รีโมท เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
1. อายุเพิ่มมากขึ้น มีอัตราเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 20%
2. โรคหลอดเลือดสมอง เช่น เคยเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต
3. ภาวะไขมันในเลือดสูง
4. โรคความดันโลหิตสูง
5. โรคเบาหวาน
6. โรคซึมเศร้า
7. การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
8. น้ำหนักตัวเกิน โดยมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 kg/m2
9. กรรมพันธุ์ มีอัตราเสี่ยงสูงต่อภาวะสมองเสื่อมถึง 10%
บำรุงสมอง ป้องกันความจำเสื่อมด้วยสารอาหาร
1. ดีเอชเอ (DHA)
จากการศึกษาพบว่า 40% ของกรดไขมันในสมอง คือ DHA (Docosahexaenoic Acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสมอง ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ ฟื้นฟูเซลล์สมองและป้องกันความเสื่อมของสมอง นอกจากนี้ ผลวิจัยทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัย UCLA ของอเมริกาพบว่า น้ำมันปลาที่มี DHA เป็นส่วนประกอบจะช่วยเพิ่มสารที่เป็นตัวช่วยลดการเกิดการสร้าง Plaques (พังผืด) ในสมอง ซึ่งเป็นตัวการที่ทำลายใยประสาทส่วนความจำ ทำให้ความจำเสื่อมได้ง่าย มีพฤติกรรม หลงๆ ลืม ๆ อันเป็นอาการหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม
2. เลซิติน (Lecithin)
เลซิติน (Lecithin) เป็นสารที่มีความจำเป็นต่อเซลล์ทุกชนิดในร่างกาย โดยเฉพาะเป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อหุ้มสมองและเซลล์ประสาท จึงจัดได้ว่าเลซิตินเป็นสารที่มีความสำคัญต่อสมองอย่างยิ่ง โดยสารสำคัญที่พบในเลซิติน คือ ฟอสฟาติดิลโคลีน (Phosphatidylcholine) ซึ่งเป็นสารที่ให้โคลีน อันเป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ที่เรียกว่า อะเซติลโคลีน (Acetylcholine) ที่ช่วยในการส่งข้อมูลต่างๆ ระหว่างเซลล์ประสาทและสมอง เพื่อสั่งการไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และยังช่วยให้สมองมีการทำงานได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น
นอกจากนี้ การศึกษาในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมยังพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีปริมาณของสารอะเซติลโคลีนลดลง และการศึกษาในผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม (Alzheimer’s Disease) ในระยะเริ่มแรก พบว่าการให้โคลีนเป็นระยะเวลา 6 เดือนจะช่วยให้ความจำดีขึ้น จึงกล่าวได้ว่าการบำรุงสมองด้วยเลซิตินนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีในการดูแลสมองและป้องกันสมองเสื่อมได้เป็นอย่างดี
3. สารสกัดจากใบแปะก๊วย
สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo Biloba Extract) มีสารสำคัญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มฟลาโวน ไกลโคไซด์ (Flavone Glycoside) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่ช่วยปกป้องเซลล์สมองจากอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมองเสื่อมได้ และกลุ่มเทอร์ปีนแลคโตน (Terpene Lactone) ที่ประกอบด้วย จิงโกไลด์ (Ginkgolide) และ บิโลบาไลด์ (Bilobalide) มีส่วนช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด จึงช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ส่งผลให้นำพาออกซิเจนและอาหารไปเลี้ยงสมองและส่วนต่างๆ ของร่างกายดีขึ้น
นอกจากนี้ สารสกัดจากใบแปะก๊วยยังสามารถต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด ช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดอันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ อีกทั้งคุณประโยชน์ของสารสกัดจากใบแปะก๊วยยังมีส่วนช่วยในการบำรุงสมองและป้องกันการเกิดโรคทางสมองได้ เช่น
– บรรเทาอาการและชะลอความเสื่อมของสมอง
– เพิ่มประสิทธิภาพความจำ ความคิด และการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
– ฟื้นฟูความจำและการเรียนรู้ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยสมองเสื่อม
– ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด
สารอาหารสำคัญสำหรับ บำรุงสมอง เหมาะกับใครบ้าง?
ผู้สูงอายุที่อยากเสริมความจำ กังวลเรื่องสมองเสื่อม
ผู้ที่เริ่มมีปัญหาสมองเสื่อม
ผู้ที่อยากเสริมความจำ กังวลเรื่องสมองเสื่อม
การดูแลและ ‘บำรุงสมอง’ เพื่อป้องกันสมองเสื่อม
ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากไขมันอาจมีผลให้เกิดหลอดเลือดอุดตันได้ โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดี ร่างกายแข็งแรงและสามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้
ดื่มน้ำสะอาดให้มาก เนื่องจากสมองประกอบด้วยน้ำ 85% และควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานอย่างเพียงพอ
ผ่อนคลายความเครียด โดยฝึกหายใจให้ถูกวิธีโดยหายใจเข้า- ออก ช้า ๆ ลึก ๆ จะช่วยผ่อนคลายสมองได้
ฝึกความจำ เช่น เล่นเกมส์ลับสมอง ปริศนาอักษรไขว้ ฝึกจำหมายเลขโทรศัพท์ หัดเขียนหนังสือด้วยมือที่ไม่ถนัด คิดคำนวณแทนเครื่องคิดเลข ฯลฯ
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
ข้อสรุป
การบำรุงสมองนอกจากจะช่วยเสริมพัฒนาการของสมองและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความจำแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ โดยการรับประทานสารอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงสมองอย่าง ดีเอชเอ เลซิติน และสารสกัดจากใบแปะก๊วย ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียด และบริหารสมองอยู่เป็นประจำ จะช่วยให้ระบบสมองและความจำทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลอาการสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้อีกด้วย