สถานที่ไหว้พระกรุงเทพฯ แจกพิกัด เที่ยววัด ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีกิจกรรมเริ่มต้นปีที่หลายคนนิยม คือการไปไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคลตามวัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งในกรุงเทพมหานคร ก็มีวัดสำคัญ พระอารามหลวง (วัดหลวง) รวมถึงศาลเจ้าที่ได้รับความนิยมอยู่หลายแห่ง ทั้งวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ศาลหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อเสือ และวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เป็นต้น วันนี้เราเลยขอนำเอา สถานที่ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร หรือจะเป็นเส้นทาง ไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพฯ อื่น ๆ มาแนะนำกันบ้าง
1. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนถนนนครปฐม ติดคลองเปรมประชากร ใกล้กับลานพระบรมรูปทรงม้าและทำเนียบรัฐบาล เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร แต่เดิมชื่อ “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ. 2369 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (ต้นราชสกุลพนมวัน) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพรักษาพระนคร ท่านได้ทรงตั้งกองบัญชาการทัพที่วัดแหลม และเมื่อปราบกบฏเรียบร้อยแล้วจึงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดกับพี่น้องอีก 4 พระองค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเบญจบพิตร” หมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ จนปี พ.ศ. 2443 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยต่อท้ายเป็น “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” หมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐานเป็นองค์ประธานอยู่ในพระอุโบสถ ด้านหลังพระอุโบสถมีต้นศรีมหาโพธิ์ต้นแรกที่นำมาจากเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย, พระอุโบสถ ประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนอิตาลีทั้งหลังที่เดียวในไทย, พระที่นั่งทรงผนวช ที่ประทับของรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงพระผนวชใน พ.ศ. 2416 และอนุเสาวรีย์ประจำรัชกาลที่ 5 เป็นต้น
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : ถนนนครปฐม แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
เฟซบุ๊ก : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : Marble Temple
Google Map : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
2. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ด้านหน้าวัดหันออกทางถนนอุณากรรณ ส่วนฝั่งด้านถนนบำรุงเมืองจะอยู่ตรงข้ามเสาชิงช้า สัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพฯ เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 มีพระราชดำรัสให้สร้างขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2350-2351 ในพื้นที่ของพระนครชั้นใน เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย โดยพระองค์ได้พระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส แต่ยังสร้างมิทันสำเร็จก็เสด็จสวรรคตก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างต่อ แต่ก็ยังมิทันแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน จากนั้นรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2390 แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ พร้อมทั้งสร้างสัตตมหาสถาน และกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม พระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวราราม และในรัชกาลที่ 4 ยังได้ทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่าพระศรีศากยมุนี พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ และพระพุทธเสรฏฐมุนี
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในไทย ด้านหลังประดิษฐานท้าวเวสสุวรรณองค์เก่าแก่ให้สักการะด้วย, พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ บริเวณผ้าทิพย์ ด้านหน้าพุทธบัลลังก์ บรรจุพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 8, พระพุทธเสรฏฐมุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อจากกลักฝิ่น ประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ ศาลาการเปรียญ, ภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเปรตภายในพระวิหาร และพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 เป็นต้น
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : บริเวณเสาชิงช้า แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เฟซบุ๊ก : วัดสุทัศนเทพวราราม Wat Suthat
Google Map : วัดสุทัศนเทพวราราม
3. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังสราญรมย์ และสวนสราญรมย์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2407 ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน เช่นที่สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยา รวมถึงอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เพื่อพระองค์ เจ้านาย ข้าราชการ และฝ่ายหน้า-ใน ได้บำเพ็ญกุศลสะดวก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั่วทั้งพระอาราม
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระวิหารหลวง (พระอุโบสถ) ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที มีมุขหน้าและหลัง ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมด ด้านในประดิษฐาน “พระพุทธสิหังคปฏิมากร” พระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตัก 1 ศอก 6 นิ้ว อยู่บนฐานชุกชีภายใต้บุษบก โดยมีพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของรัชกาลที่ 4 อยู่ภายในด้วย อีกทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีสิบสองเดือน ภาพสุริยุปราคาในสมัยรัชกาลที่ 4, ศาลาการเปรียญ อาคารคอนกรีตชั้นเดียว ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ขนาดเล็กของกรีกโบราณ เพดานประดับด้วยดวงตราประจำรัชกาลที่ 4 บริเวณนี้เป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรีหรือเขตสังฆาวาส และศิลาจารึก แกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น เป็นประกาศในรัชกาลที่ 4 ทั้งหมด 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นประกาศการสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จารึกในปี พ.ศ. 2407 และฉบับที่ 2 ประกาศเรื่องงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมาวัด จารึกในปี พ.ศ. 2408 ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับ ลงพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 4 ซึ่งข้อความในศิลาจารึกทั้ง 2 ฉบับนั้นนับว่ามีความสำคัญ เป็นมหามรดกล้ำค่าที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกนิกาย เป็นต้น
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : ถนนสราญรมณ์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
เฟซบุ๊ก : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
Google Map : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
4. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
วัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองย่านบางลำพู ตั้งบนถนนจักรพงษ์ ใกล้กับถนนข้าวสาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ที่สร้างสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายราชสามัญ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จากนั้นเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกถึง 3 ครั้ง จึงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม”
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 3.50 เมตร เป็นพระประธานประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ, รอยพระพุทธบาทจำลอง, พระบรมธาตุเจดีย์ ด้านบนสุดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ชั้นต่อมาเป็นพระรูปสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ชั้นล่างสุดเป็นหอกลองและระฆัง, ศาลาที่มีพระรูปหล่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และศาลเจ้าแม่กวนอิม รูปทรงสถาปัตยกรรมจีน ภายในมีเจ้าแม่กวนอิมเป็นพระประธาน และมีเทพเจ้าจีนต่าง ๆ ให้สักการะ
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เฟซบุ๊ก : วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร
Google Map : วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร
5. วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 แห่งบรมราชวงศ์จักรี ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชย ฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกว่า “วัดจอมทอง” หรือ “วัดเจ้าทอง” หรือ “วัดกองทอง” เมื่อ พ.ศ. 2363 มีข่าวว่าพม่าเตรียมยกทัพเข้ามาตีสยาม รัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลไปรบทางเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองแห่งนี้ และทรงทำพิธีตามลักษณะพิชัยสงคราม อธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่เนื่องจากพม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือ จึงเสด็จกลับพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด ถวายเป็นพระอารามหลวง อีกทั้งโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชโอรส” นอกจากนี้ยังเป็นวัดแรกที่ตกแต่งด้วยศิลปะจีนผสมไทยได้อย่างประณีตงดงาม
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 1 วา 2 ศอก เป็นพระประธานในพระอุโบสถ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรางคารของรัชกาลที่ 3 มาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูป พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงชันษา และเมื่อ พ.ศ. 2504 รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) อีกทั้งพระอุโบสถยังมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมผสมระหว่างไทยกับจีน หลังคาเป็นแบบจีน มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ตกแต่งเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
เฟซบุ๊ก : วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
Google Map : วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
6. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าพระธาตุ ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง เดิมชื่อว่า วัดสลัก ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า วัดนิพพานาราม ก่อนจะเปลี่ยนเป็น วัดพระศรีสรรเพชญ์ เคยใช้เป็นที่สังคายนาพระไตรปิฎก หลังจากกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 1 ทรงเปลี่ยนนามพระอารามใหม่ว่า วัดมหาธาตุ ส่วนคำว่า ยุวราชรังสฤษดิ์ มาเพิ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ทรงปฏิสังขรณ์ นอกจากนี้ในปลาย พ.ศ. 2432 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งบาลีวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุ เรียกว่า มหาธาตุวิทยาลัย และย้ายการบอกพระปริยัติธรรมมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาใน พ.ศ. 2437 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารถาวรวัตถุ เรียกว่า สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย เพื่อใช้ในงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หลังจากนั้นทรงอุทิศถวายแก่มหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง ซึ่งจะได้พระราชทานนามว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระมณฑป เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร, พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 5.16 เมตร สันนิษฐานว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดให้พระยาเทวารังสรรค์ ช่างวังหน้า เป็นผู้ปั้น และ “พระอรหันต์ 8 ทิศ”, พระวิหารหลวง ภายในประดิษฐาน “พระศรีสักยมุนี” หรือ “พระศรีศากยมุนี” (หลวงพ่อโต), พระปรางค์, ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์) เป็นต้น
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : ถนนท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์ :
www.watmahathat.com เฟซบุ๊ก : วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร l Mahathatu Temple Bangkok
Google Map : วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
7. วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย สร้างในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้สร้างวัดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และกำหนดให้แล้วเสร็จทันวันชาติ คือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สร้างวัดขึ้น โดยให้ชื่อว่า วัดประชาธิปไตย ต่อมารัฐบาลอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ กิ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ และดินจากสังเวชนียสถาน มาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ จึงได้มีการตั้งนามวัดว่า วัดพระศรีมหาธาตุ
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระเจดีย์ศรีมหาธาตุ ภายในมีเจดีย์องค์เล็กอีกชั้น ซึ่งด้านในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ขณะมียศเป็นนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ได้เดินทางไปขอพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย รวมทั้งกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ 5 กิ่ง มีการถวายเป็นเสนาสนะเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 นอกจากนี้บริเวณผนังยังมีช่องบรรจุอัฐิของผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศ ซึ่งรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเห็นสมควร และพระศรีสัมพุทธมุนี พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย พระประธานในพระอุโบสถ แต่เดิมประดิษฐานที่วังหน้า
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
เฟซบุ๊ก : -
Google Map : วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
8. วัดราชนัดดารามวรวิหาร
วัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ด้วยเป็นที่ตั้งของโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้กับภูเขาทอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี จึงพระราชทานนามว่า วัดราชนัดดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2386
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น โลหะปราสาท อาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึง โพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2389 มีการจำลองแบบมาจากประเทศศรีลังกา มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีสถาปัตยกรรมแบบไทย ยอดปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียนให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้ อีกทั้งยังประดิษฐานพระประธานพระนามว่า พระเสฏฐตมมุนี, พระวิหาร ประดิษฐาน “พระพุทธชุติธรรมนราสพ” พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ให้ประชาชนได้สักการบูชา, ศาลาการเปรียญ, กำแพงแก้วและศาลาราย, หอระฆัง และเขาพระฉาย เป็นต้น
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เฟซบุ๊ก : วัดราชนัดดาราม
Google Map : วัดราชนัดดาราม
9. วัดเทพธิดารามวรวิหาร
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ด้านหลังวัดราชนัดดารามวรวิหาร ไม่ไกลจากเสาชิงช้า รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2379 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นพระราชธิดาที่ทรงพระเมตตาและโปรดปราน สร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2382 พระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม” เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ บริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมในการก่อสร้างด้วย โดยมีความเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งสตรี ประชาชนมักมาขอพรในเรื่องหน้าที่การงานและสุขภาพ อีกทั้งยังเคยเป็นที่พำนักของ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งจำพรรษาเป็นเวลา 3 ปี
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น หอไตร ที่ยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากยูเนสโก ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ. 2554, พระพุทธเทววิลาส หรือหลวงพ่อขาว พระพุทธรูปปางมารวิชัย สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ ประดิษฐานเวชยันต์บุษบก เป็นพระประธานสำคัญประจำพระอุโบสถ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง, พระอุโบสถ สัญลักษณ์เชิงสถาปัตย์สะท้อนความเป็นหญิง โดยหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ซึ่งหากสังเกตจะเห็นเป็นกระเบื้องเคลือบสีรูปหงส์คู่ อันสื่อถึงสตรีผู้สูงศักดิ์ ที่มาพร้อมความสวยงามและคุณธรรมความดีงาม, พระวิหาร ประดิษฐานรูปหล่อหมู่พระอริยสาวิกาสมัยพุทธกาล จำนวน 52 องค์ แต่ละองค์ยังมีท่าทางที่แตกต่างกันออกไป ประดิษฐานบนแท่นเบื้องหน้าองค์พระประธานภายในพระวิหาร และกุฏิสุนทรภู่ ที่ทางวัดได้อนุรักษ์เอาไว้เป็นอนุสรณ์ถึงสุนทรภู่ และเปิดให้เข้ามาศึกษาองค์ความรู้จากกวีเอกท่านนี้ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาช่วยในการนำเสนอองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับสุนทรภู่ เป็นต้น
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์ :
www.watthepthidaramqr.com Google Map : วัดเทพธิดารามวรวิหาร
10. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
วัดเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านฝั่งธนบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติมเพื่อสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2368 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง โดยได้รับพระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” พร้อมกับทรงสร้างพระวิหารหลวงเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธไตรรัตนนายก” (หลวงพ่อโต) โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำ แบบเดียวกับวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 11.75 เมตร และสูงประมาณ 15.44 เมตร คนไทยเชื้อสายจีนเรียกว่า “ซำปอกง” ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง, พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ที่ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานอยู่ในพระอุโบสถ อีกทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ และหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2408 เป็นต้น
ไหว้พระ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : 371 ซอยอรุณอมรินทร์ 6 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
เฟซบุ๊ก : วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร
Google Map : วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร